เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
ต่างก็มีจิตเบิกบาน มีใจดี
พากันมองดูพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[20] นาค ครุฑ หรือแม้กินนร พร้อมด้วยเหล่าเทวดา
คนธรรพ์ มนุษย์ และรากษส ต่างก็ได้เห็นพระศาสดา
ผู้ทรงเกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์โลก
เหมือนดวงจันทร์ลอยเด่นอยู่ในนภากาศ
[21] เหล่าอาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหม เวหัปผลพรหม
และอกนิฏฐพรหม ต่างองค์ก็นุ่งผ้าขาวล้วนยืนประนมมือ
[22] ต่างก็โปรยปรายดอกไม้ 5 สี และดอกมณฑารพ1
ที่เจือด้วยกระแจะจันทน์ และพากันโบกผ้าอยู่บนท้องฟ้า
ครั้งนั้น ทั้งหมดต่างก็เปล่งเสียงว่า
น่าอัศจรรย์ พระชินเจ้าผู้ทรงเกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์โลก
[23] พระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
ทรงเป็นพระศาสดา ปรากฏดังเสาธง
เป็นหลักชัย เป็นที่พึ่งอาศัย และเป็นประทีปของปวงสัตว์
[24] เทวดาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มากในหมื่นจักรวาล2
ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ พากันแวดล้อมถวายบังคม
[25] เทพบุตรและเทพกัญญา ต่างก็เลื่อมใส
มีใจยินดี พากันบูชาพระผู้องอาจกว่านรชน ด้วยดอกไม้ 5 สี
[26] เทวดาทั้งหลาย ได้เห็นพระศาสดาพระองค์นั้น
ต่างก็เลื่อมใส มีใจยินดี
พากันบูชาพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
ด้วยดอกไม้ 5 สี แล้วเปล่งเสียงว่า

เชิงอรรถ :
1 ดอกมณฑารพ หมายถึงดอกไม้ทิพย์ (ที.ม. (แปล) 10/199/148)
2 ในหมื่นจักรวาล แปลมาจากศัพท์ว่า ทสสหสฺสีโลกธาตุยา (ขุ.พุทฺธ.อ. 18/64)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :559 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
[27] ‘โอ ! น่าอัศจรรย์ ขนพองสยองเกล้า
ไม่เคยปรากฏในโลก ความอัศจรรย์
ขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ ไม่เคยปรากฏ’
[28] เทวดาเหล่านั้นนั่งอยู่ในภพของตน ๆ
ได้เห็นความอัศจรรย์ในนภากาศแล้ว
พากันหัวเราะดังลั่น
[29] เหล่าภุมมเทวดาที่ประจำอยู่ตามต้นไม้
และอากาสัฏฐเทวดาที่ประจำอยู่ตามดวงดาว
ต่างก็มีความยินดีร่าเริงบันเทิงใจ พากันประนมมือนมัสการ
[30] แม้พวกนาคที่มีอายุยืน มีบุญญาธิการ มีฤทธิ์มาก
ต่างก็มีความบันเทิงใจ นมัสการ
บูชาพระศาสดาเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน
[31] บรรเลงสังคีต ตีกลองกันอยู่ในอากาศกลางเวหา
เพราะเห็นเหตุอัศจรรย์ในนภากาศ
[32] เทวดาจำนวนมาก เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์
เคาะมโหระทึก บรรเลงอยู่ในนภากาศ
เพราะเห็นความมหัศจรรย์ในนภากาศ
[33] เป็นความอัศจรรย์หนอไม่เคยปรากฏ
วันนี้เกิดขนพองสยองเกล้าขึ้นแล้ว
เราทั้งหลายได้ความสำเร็จประโยชน์ที่ยั่งยืน
ขณะเราทั้งหลายให้สำเร็จเฉพาะแล้ว’
[34] เพราะได้สดับคำว่า “พุทโธ”
เทวดาเหล่านั้นเกิดปีติในขณะนั้น
ต่างก็ยืนประนมมือกล่าวว่า ‘พุทโธ พุทโธ‘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :560 }